ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2558

ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2558


โดย ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจ Biz Club เพชรบุรี
ประธานเครือข่ายธุรกิจ Biz Club Thailand
และที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ด้านเศรษฐกิจ




สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2557 ที่ผ่านมา ผ่านช่วงภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่กินระยะเวลานาน ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนประสบภาวะชะงักงัน กอปอกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความล่าช้า
ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ชะลอตัวลงมาที่ร้อยละ 0.8 (ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารเกียรตินาคิน) โดยมีการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเพียงอย่างเดียว แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสามารถเดินหน้าบริหารประเทศ พร้อมกับเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2558 เพื่อมาชดเชยกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่อาจมีความล่าช้า ในช่วงของครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2558 นั้น แม้ว่าจะมีคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.7 (ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารเกียรตินาคิน) แต่ก็อาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ ปัจจัยเศรษฐกิจโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ยังคงชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หรือโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ปัญหาทางการเมืองที่มีอยู่ทั้งในยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง มีโอกาสเกิดความรุนแรงขยายวงกว้างได้ตลอดเวลา ปัญหาภัยธรรมชาติ  ปรากฏการณ์ EI Nino ที่อาจก่อให้เกิดภาวะภัยแล้งในแถบทะเลใต้ใน 5 เดือนข้างหน้า ภัยจากองค์การก่อการร้ายใหม่ๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงภาวะโรคระบาดต่างๆที่อาจเกิดขึ้น และหากควบคุมไม่ได้จะทำให้การท่องเที่ยวชะงักงันได้

ทั้งนี้ เราคงต้องเน้นในภาคการบริโภคภายในประเทศ การสร้างกำลังซื้อของประชาชนโดยรวม ที่สำคัญคือ การผลักดันราคาสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา ผลไม้ ให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนโดยรวม  หรือการกระตุ้นการผลักดันการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟรางคู่ การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน เพื่อประโยชน์ต่อการลดต้นทุนการขนส่งเดินทาง และเป็นฐานในการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน เพื่อที่โอกาสที่เศรษฐกิจของไทยในปี 2558 จะสามารถก้าวสู่เป้าหมายได้

สำหรับภาคธุรกิจ SMEs ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับด้านต้นทุน ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ระบบบัญชีที่ยังไม่สมบูรณ์ ข้อจำกัดด้านภาษาต่างประเทศ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหาร และภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น
รวมถึงการปรับตัวของค่าครองชีพของคนไทย จากการปรับราคาของสินค้าประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค ราคาค่าโดยสาร ค่าไฟฟ้า ประปา และก๊าซหุงต้ม
แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะมีการปรับตัวลดลง ส่งผลประหยัดต่อต้นทุนการขนส่งของธุรกิจ แต่ในปีหน้านี้ ธุรกิจ SMEs เอง ก็คงต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุนทั้งระบบอย่างจริงจัง
ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ในขณะเดียวกัน ก็มีคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การที่รัฐบาลกำหนดให้การส่งเสริม SMEs เป็นวาระแห่งชาติ จะเป็นปัจจัยบวก ในการเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการวางรากฐานการพัฒนาธุรกิจ SMEs สู่กับขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายในประเทศไทย ของปี 2558 ได้มากยิ่งขึ้น ได้ต่อไป


 … สวัสดีปีแพะทองคำ





ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม