ครั้งหนึ่งในชีวิต กับการอุปสมบทใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จารึกแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน @อินเดีย – เนปาล ฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี


ครั้งหนึ่งในชีวิต กับการอุปสมบทใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

จารึกแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน @อินเดีย เนปาล ฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี

                                                       
                                           โดย กรัณย์ สุทธารมณ์ (พระกุสลโพธิ)


        จากที่ครั้งหนึ่งกับการอุปสมทบหมู่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ในปี 2550 ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างการซึมซับกับเรื่องราวของพุทธศาสนา ก็ได้รับการเติมเต็มจากพระที่บวชด้วยกัน...หากเป็นไปได้ เราจะต้องหาโอกาสไปบวชอินเดีย ต้นฉบับศาสนาพุทธในดินแดนพุทธภูมิให้จงได้
          5 ปี ผ่านไป เข้าสู่บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี  เช้าวันที่ 28 สิงหาคม 55 ก่อนปิดประตูเพื่ออาบน้ำเพียง 5 วินาที ก็ได้ยินเสียงวิทยุ สวท.เพชรบุรี ...โครงการนี้เราจัดทุกปีนะครับ โดยจะทำการบวชที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์....(ท่านปรีชา วัชราภัย ผอ.สปร.กล่าว) จากนั้น เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จะจำรึกในความทรงจำของผมจึงได้ปรากฏขึ้น

          9 โมงเช้า ของวันที่ 30 ตุลาคม 2555 เรานัดพร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเตรียมขึ้นเครื่องในเที่ยวบิน TG-327 กรุงเทพ-คยา ต้องขอขอบคุณพี่เทพ (คนขับ) พี่อ้วน และน้องปู ที่มาส่งถึงสนามบิน ซึ่งถือว่าทันท่วงทีพอดี้พอดีคนสุดท้ายของคณะ เส้นทางบินไปทางกาญจนบุรี ผ่านน่านฟ้าของพม่า อ่าวเบงกอล และลงสู่ สนามบิน คยา (Kanya Airport) ถึงเวลา 14.00 น. (เวลาอินเดียเร็วกว่าไทย 1 ชม.30 นาที) ใช้เวลาประมาณ 3 ชม. สนามบินที่นี้ไม่มีระบบช่วยทางอากาศ และรันเวย์สั้นมาก ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของนักบินอย่างยิ่ง เมื่อเข้าสู่ระบบตรวจคนเข้าเมืองก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ให้บริการเพียงคนเดียว อีกท่านกำลังไปยกเครื่องคอมพิวเตอร์ (น่าจะรุ่น pentium 4) เพื่อมาเพิ่มจุดบริการ ใช้เวลาซักพักใหญ่จึงผ่านระบบตรวจคนและการเอ็กซเรย์กระเป๋า บรรยากาศของอินเดียได้เริ่มซึมซับทันทีจากพวงดอกไม้อินเดีย (กลิ่นฉุนมาก) ที่คณะไกด์อินเดียมาต้อนรับพวกเรา และจึงขึ้นรถโค้ชปรับอากาศ เราเริ่มมองบรรยากาศริมสองข้างทางที่เต็มไปด้วยบ้านเรือน ร้านค้า ผู้คน และสัตว์เลี้ยง ที่แปลกตาพวกเราอย่างยิ่ง ประมาณ 30 นาที พวกเราจึงมาถึง วัดไทยพุทธคยา



วัดไทยพุทธคยาถือว่าเป็นวัดแรกที่รัฐบาลไทยได้มาจัดตั้งในนอกราชอาณาจักร พวกเราได้รับการต้อนรับและชี้แจงจากพระมหานิพนธ์ เลขานุการเจ้าอาวาสเสร็จแล้ว จึงได้จัดแจงสัมภาระเข้าห้องพัก ห้อง 206  (พัก4 ท่าน ติดกับห้องพระประธาน) ขณะนั้นพบว่าหลวงพ่อพระราชรัตนรังสีกำลังฉันเพลอยู่ จึงรีบนำขนมมาการอง ที่นำมาจากประเทศไทยถวายหลวงพ่อเป็นสิริมงคล จากนั้นจึงไปชม แม่น้ำเนรัญชรา สถานที่พระพุทธองค์ลอยถาดซึ่งนางสุชาดาเป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสก่อนที่มหาบุรุษจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นคล้ายทะเลทราย ปกคลุมด้วยต้นหญ้า มีสัตว์มาเดินและเด็กๆมาเล่นกันจำนวนมาก แต่กระนั้นก็ยังไม่ทำให้พวกเราคลายแรงศรัทธาและความตื่นเต้นที่ได้เห็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อพุทธศาสนาอยู่ดี  ไกด์ได้ชี้จุดที่น่าจะเป็นจุดที่พระพุทธองค์ลอยถาด ชมต้นหญ้ากุศะ ที่นายโสตถิยะเป็นผู้ถวายให้มหาบุรุษ เพื่อได้ปูลาด ณ ใต้ต้นโพธิ์ จากนั้นจึงไปไปชม บ้านนางสุชาดา พวกเราได้เดินชมรอบกองอิฐขนาดใหญ่ ซึ่งทราบว่าพระเจ้าอโศกได้เป็นผู้สร้างเป็นอนุสรณ์ให้เป็นที่ระลึกสถานที่ที่มีความสำคัญ ที่นี้ได้สร้างการปรับตัวให้กับพวกเรากับการปฎิบัติตัวกับกลุ่มคนที่เรียกว่า ขอทาน และผู้ที่มาขายสินค้าต่างๆอย่างดี ไม่มอง ไม่สบตา วางเฉย นั่นหล่ะดีเป็นวาทะที่ไกด์ได้แนะนำพวกเราให้ช่วยปฎิบัติเพราะจะทำให้ท่านปลอดภัยจากการถูกรุมทึ้งจากคณะขอทานได้ เพราะที่นี้มีขอทานจำนวนมาก มีทั้งร่างกายไม่สมประกอบแขนขาลีบ เด็กเล็กต่างๆ ขณะเดินรอบได้พบกับ คณะที่มาจากเพชรบุรี 15 คน โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพา ทักทายกันพักใหญ่จึงถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและอนุโมทนาในการบวชของกระผมอีกครั้ง จากนั้นจึงกลับมาที่ วัดไทยพุทธคยา อีกครั้ง โดยเข้าสู่ พิธีโกนผมนาค ซึ่งจัดบริเวณสวนข้างพระอุโบสถ เนื่องจากใกล้หน้าหนาวเวลาที่นี้จึงมืดเร็ว พวกเราได้นั่งตามลำดับอาวุโส 1-18 ผมเป็นคนที่ 16 จึงได้เริ่มขลิบผมจากประธานฆราวาสคือ ผอ.ปรีชา วัชราภัย ดร.อิสสระ อ.บุญสิน และญาติธรรม ตามลำดับ เสร็จแล้วจึงทำโกนผมทั้งหมดโดยคณะพระสงฆ์ ซึ่งบรรยากาศตอนนี้ถือว่ามืดเร็วมาก จนต้องใช้ไฟฉายส่องช่วยเพื่อให้การโกนผมเป็นเรียบร้อย

จากนั้นพวกเราทุกนาคจึงได้ไปรับประทานอาหารที่อู่ข้าว และไปที่ห้องธรรมสภา เพื่อเปิดโครงการอุปสมบทฯ และปฎิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นทางการ เสร็จพิธีจึงได้ทำพิธีการซ้อมคำขานนาค โดย พระอาจารย์ปลัดณรงค์ อุตตมโส และเพื่อให้พวกเราขานนาคได้ถูกต้องและพร้อมเพรียงกัน วันนี้ภารกิจการไปปักกลดที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงต้องงดไปก่อน
          เช้าวันพุธที่ 31 ตค. ตื่นเช้า 6 โมง พวกเราได้สวมชุดนาคเพื่อไปซ้อมขานนาคอีกครั้งหนึ่งที่ธรรมสภา วันนี้ถือว่าเป็นวันออกพรรษา ทางวัดจึงได้จัดพิธีตักบาตรเทโว บริเวณหน้าอุโบสถ ทำให้ได้พบเห็นญาติธรรม คนพุทธที่อยู่ ณ คยานี้ ได้มาจัดโต๊ะเพื่อเตรียมตักบาตรจำนวนมาก ระหว่างเตรียมตักบาตร นกพิราบฝูงใหญ่ได้บินวนรอบพระอุโบสถ (ประมาณ 7-8 รอบ ซึ่งปกติจะไม่ค่อยบินจะเกาะหลังคาตามจุดต่างๆเท่านั้น) เวลา 8 โมง พระพี่เลี้ยงจึงจัดให้พวกเราได้ใส่บาตรหลวงพ่อพระราชรัตนรังสี และคณะพระสงฆ์ที่เดินโปรด เป็นลำดับแรก บรรยากาศเช้าก่อนนี้จึงอิ่มเอิบบุญกันเต็มที่  จากนั้นพวกเราได้มุ่งหน้าขึ้นรถไป วิหารพุทธคยา เพื่อที่จะทำพิธีบวชสามเณร ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก่อนเข้าวิหารทางไกด์จึงแนะนำให้พวกเราถอดรองเท้าไว้ที่รถบัส
เพราะข้างในจะไม่อนุญาตให้ใส่รองเท้าและเป็นการสะดวกแก่ผู้บวชอีกทางหนึ่ง หน้าบริเวณทางเข้ามีร้านค้าของจำนวนมากๆ พอถึงถึงทางเข้าเริ่มตื่นเต้นอีกครั้งกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ ที่แห่งนี้ วิหารพุทธคยา ภาพผู้คนผู้แสวงบุญจากประเทศต่างๆ การแต่งกายที่แตกต่างกันไป และแน่นอนภาพของขอทานที่นั่งเรียงรายระหว่างทางเข้าวิหาร เมื่อมาถึงพระปลัดณรงค์ ได้นำพวกเราทำประทักษิณรอบวิหาร 3 รอบ (อิติปีโสภควา อรหังสัมมา...) ภายใน วิหารเราได้เห็นภาพของการสักการะจากผู้แสวงบุญในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น การไหว้แบบอัษฎางคประดิษฐ์ของพระทิเบต (คือ การทอดตัวลงไปนอนราบจนหน้าผากสัมผัสพื้นแล้วลุกขึ้นมายืนแล้วกราบลงไปใหม่) การสวดมนต์ในท่วงทำนองต่างๆ แล้วก็มาถึงบริเวณที่เราจะทำพิธีบวชสามเณร นั่นคือบริเวณใต้พระศรีมหาโพธ์ ต้นที่ 4 ที่อยู่นอกรั้ววิหาร พิธีเริ่มต้นโดยประธาน ผอ.ปรีชา วัชราภัย ได้จุดธูปเทียนบูชารัตนตรัย จากนั้น นาคได้ประนมมือประคองผ้าไตรและถวายเครื่องสักการะ (ดอกบัว) พร้อมกล่าวคำขานนาคพร้อมกัน (ดอกบัวนำมาจากประเทศไทย เพราะที่อินเดียมีแต่ดอกบัวสายไม่ขลัง ผมได้ลิบกลีบที่ไม่สวยออกสองกลีบ ชาติหน้าจะได้มีรูปโฉมดูดี พี่ข้างๆแนะนำ) พระราชรัตนรังสี พระอุปัชฌาย์ สวมอักษะให้แก่นาคทีละคน และไปเปลี่ยนครองผ้าข้างล่างใกล้ต้นโพธิ์ (บริเวณนี้พบใบโพธิ์ใบหนึ่ง จึงเก็บไว้) แล้วจึงมารับสรณะและศีล และพระอุปัชฌาย์กล่าวให้โอวาท การบรรพชาสามเณรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงสำเร็จลุล่วงโดยสมบูรณ์ จากนั้นจึงทำประทักษิณรอบวิหาร 3 รอบ และทำพิธีห่มผ้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระอาจารย์แจ้งให้ห่มฝั่งกำแพงตรงข้ามต้นโพธิ์แทน สำเร็จพิธีจึงเดินทางกลับสู่ วัดไทยพุทธคยา เพื่อเตรียมตัวประกอบพิธีอุปสมบทในช่วงบ่าย ณ พระอุโบสถวัดไทยพุทธยา เป็นลำดับต่อไป
          เวลา 12.00 สามเณรทั้ง 18 รูป และคณะญาติโยม พร้อมกันภายในพระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถ ซึ่งจำลองมาจากวัดเบญจมบพิตรประเทศไทย โดยมี พระพุทธชินราชเป็นพระประธาน บริเวณผนังพระอุโบสถมีภาพวาดชาดกเรื่องราวพระมหาชนกที่มีความสวยงามมาก เข้ามาแล้วรู้สึกถึงความสงบและความศักดิ์สิทธิ์ในทันที จากนั้น จึงเข้าสู่การประกอบพิธีอุปสมบทแก่สามเณร โดยกำหนดเป็น 6 ชุด ชุดละ 3 รูป พิธีเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนถึง ชุดที่ 5 พระคู่สวดที่กำหนดไว้ ได้มาเปลี่ยนเป็น พระเมธีวรญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่พึ่งเดินทางจากประเทศไทยมาถึง จนถึงเวลา 17.00 น.(โดยประมาณ) ก็มาถึงชุดที่ 6 ได้เข้าไปกล่าวคำขอบวช กล่าวขอนิสัยต่อพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์อนุกรรมวาจาคล้องบาตรให้ จากนั้นพระคู่สวดได้กล่าวซักซ้อมอันตรายายิกธรรม (กล่าวแต่สิ่งที่มีอยู่จริง) จากนั้นจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปสู่ท่ามกลางสงฆ์และเปล่งวาจาคำขออุปสมบท แจ้งชื่อตน กินนาโมสิ  อะหัง ภันเต กุสลโพธิ นามะ  (แปลว่าผู้มีความเฉลียวฉลาด) และกล่าวชื่อพระอุปัชฌาย์ต่อที่ประชุมสงฆ์ โก นามะ เต อุปัชฌาโย อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสะมา วีรยุทโธ นามะ(ตรงนี้ถือเป็นหัวใจของพวกเราเลย จะไม่ยอมกล่าวผิดพลาดโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการให้ความเคารพอย่างสูง) จากนั้นจึงฟังสวดญัตติจตุถกรรมวาจา เพื่อยกสามเณรขึ้นเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด (สำรวมและอธิษฐานยังบุญไปถึงบุคคลอันเป็นที่เคารพรัก) จากนั้น กราบ 3 หน ประนมมือคลานเข่าถอยหลังออกไป

กล่าวกันว่าเป็นพิธีอุปสมบทที่ยาวนานที่สุดคณะหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเกือบ 5 ชั่วโมง อันจากความละเอียดของลำดับพิธีการ พระเมตตาที่ให้โอวาทแก่พระบวชใหม่ ซึ่งถือเป็นสิริมงคลและเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจแก่พวกเราอย่างยิ่ง ต่อด้วยพิธีถวายผ้าป่าวัดไทยพุทธคยา และการใส่บาตรแก่พระใหม่หน้าพระอุโบสถตามลำดับ จากนั้นจึงนัดแนะกันเวลา 20.00 น. สำหรับผู้ที่มีความประสงค์พักปักกลดใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (เวลา 21.00 วิหารฯจะปิดประตูไม่ให้คนภายนอกเข้าและไม่ให้คนในออก เพื่อรักษาความปลอดภัย) จะมีรถบัสบริการพาไปส่ง และจะรับกลับมาที่วัดอีกครั้งเวลา 04.00 น. เมื่อถึงเวลามีผู้เดินทางไปปักกลดจำนวน 17 ท่าน (พระ 8 รูป อุบาสกอุบาสิกา 9 คน) เวลานี้ ถือว่าอากาศค่อนข้างหนาว จึงต้องเตรียมเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอ (จะให้ป่วยไม่ได้เพราะเหลืออีกหลายวัน) พอไปถึงสิ่งแรก คือ การจับจองที่ปักกลด โชคดีที่วันนี้คนไม่มากนัก เราสามารถเลือกพื้นที่ได้หลายพื้นที่ จริงๆตั้งใจจะปักกลดหน้ากล่องพระพุทธรูปบริเวณหน้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่ด้วยเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกรั้วซึ่งจะรับปะทะอากาศและลมเย็นโดยตรง (จึงต้องพิจารณาด้วยสติว่าเราต้องรักษาสุขภาพให้ดี) ผมจึงมาปักกลดด้านซ้ายข้างต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ตามคำแนะนำและการช่วยเหลือการกางกลดจากญาติธรรมที่มาด้วยกัน หลังจากกางกลดเสร็จจัดแจงพื้นที่ภายในเต้นท์เป็นที่เรียบร้อย จึงได้เดินสำรวจบริเวณโดยรอบวิหารพุทธคยา เวลานั้นเป็นเวลาใกล้ 3 ทุ่ม จึงเหลือคนไม่มาก เพราะคนได้ออกจำนวนหนึ่ง อากาศค่อนข้างเย็น ต้องสวมหมวกไหมพรมตลอด เริ่มจากเข้าไปนมัสการ

พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักด้วยหิน มีอายุ 1,400 กว่าปี ทาด้วยสีทองงดงาม เป็นพระพุทธรูปที่มีประวัติการรอดพ้นจากการทำลายจากกษัตริย์ในอดีตกาล แล้วจึงเดินสำรวลรอบวิหารรอบนอกสุด เราได้พบสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเสวยวิมุยติสุข 7 สัปดาห์ อาทิ อนิมิสเจดีย์ หลังจากทรงประทับ ณ รัตนบัลลังค์ตลอด 7 วัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับยืน ณ ที่แห่งนี้ ได้ทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบตาเป็นเวลา 7 วัน เพื่อระลึกคุณของต้นพระศรีมหาโพธิ์  รัตนจงกรมเจดีย์

 ในสัปดาห์ที่ 3 พระองค์ทรงเนรมิตที่จงกรม ระหว่างรัตนบัลลังค์กับอนิมิสเจดีย์ ทรงจงกรมบนรัตนบัลลังค์เจดีย์ ปัจจุบันเป็นหินแกะสลักเป็นดอกบัว 19 ดอก วางบนแท่นหินเรียงกันเป็นแนวยาว สระมุจจลินท์ เป็นสถานที่จำลองที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่ง ณ โคนต้นมุจจลินท์ และมีพายุ เกิดเมฆฝน พญานาคที่อยู่ในหนองน้ำ ชื่อว่า มุจจลินท์ ได้เนรมิตกายให้ใหญ่ล้อม พระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันฝนและลม ซึ่งของจริงจะอยู่ห่างจากวิหารพุทธคยาไปอีก นอกจากนี้จะพบเจดีย์โบราณจำนวนมากรอบๆบริเวณวิหาร สภาพของวิหารอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินโดยรอบกว่า 200 เมตร ทำให้นึกภาพได้ว่าสมัยก่อนดินโคลนต่างๆได้มาทับฐานของเจดีย์ ซึ่งอาจเป็นผลจากการไหลของแม่น้ำเนรัญชราและความยาวนานของกาลเวลาจริงตามที่ได้รับฟังมา เดินรอบวิหารภายนอกผ่านความหนาวมาได้ครบรอบ จึงเริ่มมาดูเส้นทางรอบในวิหารบริเวณหน้าต้นโพธิ์ใหญ่บ้าง แล้วที่นึ้ จึงได้พบใบโพธิ์สภาพสมบูรณ์ จึงได้เก็บภายในจีวร จากนั้นจึงกลับที่ปักกลดเพื่อสวดมนต์ และคำอธิษฐาน (ที่เตรียมมาอย่างดี) เสร็จจึงได้นั่งสมาธิระยะหนึ่ง แต่ด้วยความเพลียจากการตื่นเช้าและพิธีบวชทั้งวัน จึงขอหลับพักใต้ต้นโพธิ์ก่อน (ต้องควบคู่กับการดูแลร่างกายอย่างดี) ตื่นอีกที ตีสาม จึงได้มานั่งสมาธิอีกระยะหนึ่ง ไม่นานซักเท่าไร ก็ได้ยินเสียงการเก็บเต้นท์ ข้างๆ (ทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่จะทำการบอกให้เก็บเต้นท์) จึงได้ทำการเก็บบ้าง ก่อนกลับจึงได้ไปกราบลาต้นพระศรีมหาโพธิ์พร้อมได้รดน้ำบริสุทธิ์ ที่พระเพื่อน (พระสุจินต์)ได้แบ่งให้ครึ่งขวด แล้วจึงได้ทำการเดินทางขึ้นรถกลับใช้เวลาเพียง 10 นาที ก็ถึงวัดไทยพุทธคยา

         
 1 พฤศจิกายน 2555 เวลา 06.00 น. พระใหม่ทุกรูปได้เข้าสู่การสวดมนต์ทำวัตรเช้าเป็นครั้งแรก โดยการนำของพระราชรัตนรังสี พระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ท่านให้คำแนะนำและที่มาของบทสวดที่สำคัญหลายบท อาทิ คำสวดบารมี 10 ทัศ  นมัสการพระอรหันต์ 8 ทิศ เป็นต้น  จากนั้นทำพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุบวชใหม่ หน้าอุโบสถ และเดินทางไปเจดีย์พุทธคยา เพื่อทำพิธีห่มผ้าพระพุทธเมตตา กราบนมัสการพระพุทธเมตตา และกราบลาพระมหาเจดีย์พุทธคยา จากนั้นไปเดินทางไปวัดญี่ปุ่น เพื่อนมัสการพระพุทธรูป ไดบุสึพระพุทธรูปศิลปะญี่ปุ่นแบบมหายานที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย บริเวณพระพุทธรูปยังมีรูปปั้นพระสาวกของพระพุทธเจ้าล้อมรอบจากลำดับซ้ายมาขวา ได้แก่ พระสารีบุตร พระมหากัจจายะณะเถระ (พระสังกัจจายน์) พระราหุล พระมหากัสสะปะเถระ พระมหาโมคัลลานะ เป็นต้น จากนั้นจึงมาฉันเพลที่วัดไทยพุทธคยา อีกครั้ง เพื่อเดินทางไป ถ้ำดงคสิริ สถานที่มหาบุรุษได้บำเพ็ญทุกกรกิริยาแบบอัตตกิลมถานุโยคอย่างแสนสาหัสเป็นเวลาถึง 6 ปี ประมาณ 45 นาที ก็มาถึงบริเวณทางขึ้นถ้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยคณะขอทานที่อยู่ตามแนวขึ้นเขา สำหรับพระหรือญาติโยมที่อาวุโส จะเป็นเป้าหมายที่คนพวกนี้จะเข้าไปพยุง ดันขึ้นเขา เพื่อได้เงินกลับมาให้พวกเขานั่นเอง ใช้เวลาและรู้สึกเหนื่อยอยู่พอสมควร คณะเราก็ได้มาถึงจุดพักก่อนขึ้นบันไดไปที่ถ้ำ พักได้นานพร้อมมีบริเวณจิบน้ำมะตูมที่ชาวอินเดียนำมาเสริฟ์บริการ (ไกด์บอกว่าทานได้) ภายในถ้ำมีรูปปั้นมหาบุรุษลักษณะนั่งสมาธิจนเห็นซี่โครงร่างกายผายผอมยิ่ง (ทราบว่าเป็นรูปปั้นที่มาแทนที่ถูกขโมยไปก่อนหน้านี้) สามารถเข้าได้ไม่เกิน 4 คน สวดมนต์พิธีเสร็จจึงได้ลงจากเขา และมุ่งหน้าเดินไปยังยังเมืองราชคฤห์ ใช้เวลาเกือบ 3 ชม. ก็มาถึงพื้นที่ที่พวกเรามาชมหลักฐานที่แสดงให้เห็นความคับคั่งทางเศรษฐกิจการค้าขายในสมัยพุทธกาล นั่นคือ รอยเกวียนอายุสองพันกว่าปี บริเวณโดยรอบมีการกั้นพื้นที่ จะเห็นทางเกวียนเป็นรอยแนวยาว มีความแข็งฝั่งลึก และวันนี้พวกเราได้เปลี่ยนมาจำวัดกันที่นี้ วัดไทยสิริราชคฤห์ วัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งของพุทธศาสนา..... เมืองราชคฤห์

ที่มาภาพ : คณะอุบาสก อุบาสิกา ผู้ใจบุญของคณะเรา


(โปรดติดตาม ตอนต่อไป วันที่ 2 พย. – 8 พย. ราชคฤห์ - นาลันทา - เวสาลี - เกสรียา - กุสินารา - สาวัตถี - กบิลพัสดุ์ - โสนาลี - ลุมพินี  - สารนาถ - คงคา ทาง www.facebook.com/karunryd)     

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม